พิธีส่งมอบโครงการวิจัย “ระบบตำรวจอัจฉริยะป้องกันการโจรกรรมสำหรับเมืองฉะเชิงเทรา” นวัตกรรมความปลอดภัยสู่ Smart City ต้นแบบ และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงให้ความร่วมมือ

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 ได้มีพิธีส่งมอบโครงการวิจัย “ระบบตำรวจอัจฉริยะป้องกันการโจรกรรมสำหรับเมืองฉะเชิงเทรา” นวัตกรรมความปลอดภัยสู่ Smart City ต้นแบบ และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ณ ศาลาเอนกประสงค์ วัดผาณิตาราม อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดฉะเชิงเทราโดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนาและนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นประธาน พร้อมด้วยนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา, พล.ต.ต.นเรวิช สุคนธวิท ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา, รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล., รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล., ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และผู้แทนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงให้ความร่วมมือ

โครงการวิจัย “ระบบตำรวจอัจฉริยะป้องกันการโจรกรรมสำหรับเมืองฉะเชิงเทรา” ระบบนี้ใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์พฤติกรรมต้องสงสัยผ่านกล้อง CCTV ช่วยให้ตำรวจเข้าระงับเหตุได้ทันท่วงที ส่งผลให้จับกุมคนร้ายได้ในหลายคดีสำคัญ นอกจากนี้ ระบบตรวจจับป้ายทะเบียนอัจฉริยะยังบันทึกข้อมูลรถทุกคันที่ผ่านเข้า-ออกจังหวัดได้ 100% เพิ่มประสิทธิภาพในการสืบสวนและป้องกันอาชญากรรมโครงการนี้ไม่เพียงแต่ช่วยในการป้องกันอาชญากรรมทั่วไป แต่ยังขยายผลสู่การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยมีแผนติดตั้งกล้อง AI เพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยง และพัฒนาระบบวิเคราะห์พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ความสำเร็จอันโดดเด่นนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน นำโดยตำรวจภูธรจังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดฉะเชิงเทรา, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ผู้พัฒนาเทคโนโลยี AI, สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ผ่านหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD), และมูลนิธิฉะเชิงเทราเพื่อการพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)จุดเริ่มต้นของโครงการมาจากแนวคิดของผู้เข้าร่วมหลักสูตรหลักนิติธรรมและการพัฒนา (Rule of Law and Development – RoLD) ของ TIJ ซึ่งได้เข้าไปช่วยผลักดันโครงการนี้ โดยพบว่าทางตำรวจและจังหวัดฉะเชิงเทรามีความตั้งใจและสนใจด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว รวมทั้งมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับการทำงานของตำรวจในพื้นที่ ประกอบกับจังหวัดมีเป้าหมายในการเป็นเมืองอัจฉริยะ จึงเป็นพื้นฐานที่ดีในการพัฒนาโครงการนี้สจล. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี AI โดยไม่เพียงแต่ติดตั้งกล้อง Edge AI คุณภาพสูง 20 จุดทั่วเมืองเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาระบบ AI ที่สามารถประสานกล้องวงจรปิดที่มีอยู่แล้วของภาครัฐและภาคเอกชนให้สามารถทำงานร่วมกับระบบตรวจจับและป้องกันอาชญากรรมนี้ได้ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณและไม่ต้องติดตั้งกล้องใหม่ทั้งหมด นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบแจ้งเตือนและโปรแกรมตรวจจับป้ายทะเบียนรถที่มีประสิทธิภาพสูง

รูปภาพจาก Facebook คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.