วิศวกรรมการเงินคืออะไร?
วิศวกรรมการเงินเป็นสหสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรู้ทางทฤษฎีการเงิน วิธีการทางวิศวกรรม เครื่องมือทางคณิตศาสตร์และการเขียนโปรแกรมมาแก้ปัญหาทางการเงิน นอกจากนี้ยังใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่ได้อีกด้วย ซึ่งวิศวกรการเงินจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในด้านทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และการเงิน การใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ การเขียนโปรแกรมเป็นอย่างดี โดยทั่วไปแล้ววิศวกรรมการเงินมักจะเป็นที่รู้จักในนามอื่นว่าคณิตศาสตร์การเงิน การเงินชิงปริมาณ และการเงินเชิงคำนวณ
หลักสูตรร่วมสองปริญญา KMITL-NIDA สาขาวิชาวิศวกรรมการเงิน (Financial Engineering: FE) เป็นหลักสูตรตรีควบโท ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างวิศวกรการเงินที่มีความรู้และความเข้าใจในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และการเงิน มีทักษะทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงปริมาณ มีทักษะการออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีความเข้าใจในเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถนำมาใช้ในงานทางการเงิน และสามารถนำความรู้และทักษะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการเงินขององค์กร แก้ปัญหาทางการเงิน ออกแบบกลยุทธ์การลงทุน และพัฒนาเครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรมทางการเงินเพื่อตอบโจทย์และความต้องการของอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีทักษะการทำงานแบบมืออาชีพ มีความพร้อมในการทำงานในระดับนานาชาติ และมีคุณธรรม จริยธรรม ยึดมั่นจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ
อาชีพในวิศวกรรมการเงิน
บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรวิศวกรรมการเงินมีโอกาสทางอาชีพมากมาย ได้แก่
– ทำงานในสถาบันการเงิน เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน ในตำแหน่ง นักวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quant) ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ผู้จัดการความเสี่ยงการเงิน (Financial Risk Manager)
– ทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน (Financial Consultant)
– ทำงานในอุตสาหกรรมวาณิชธนกิจ (Investment Banking)
– ทำงานหรือประกอบธุรกิจส่วนตัวในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: FinTech)